ประวัติห้องสมุด

        เมื่อเริ่มตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยสภากาชาดไทยในปี พ.ศ. 2457 นั้น ทางโรงเรียนมีเพียงตู้เก็บหนังสือเท่านั้น เมื่ออาจารย์ต้องการหนังสือจะเบิกเงินจากผู้ปกครองโรงเรียน ซื้อหนังสือมาเก็บรวบรวมไว้เพื่อใช้ค้นคว้าประกอบการสอน ต่อมาเมื่อมีหนังสือมากขึ้น ผู้ปกครองโรงเรียนจึงดำริจัดห้องสมุดขึ้นที่ตึกศักรินทร์ภักดีชั้นล่าง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยโสตทัศนูปกรณ์     

        การดำเนินงานของห้องสมุดในระยะแรก อาจารย์พยาบาลที่ผ่านการอบรมวิชาห้องสมุดจาก สมาคมห้องสมุด แห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ ได้มีการพัฒนาจัดหมู่หนังสือโดยใช้ระบบดิวอี้ มีการจัดหาหนังสือและครุภัณฑ์มากขึ้น 

พ.ศ. 2513 สภากาชาดไทยได้ปรับปรุงงานโดยแยกโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยสภากาชาด-ไทย ออกจากแผนกพยาบาล แต่คงสังกัดในกองบรรเทาทุกข์และอนามัย และได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนพยาบาลฯ เป็น “วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย” 

พ.ศ. 2515 สภากาชาดไทยมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานอีกครั้งหนึ่ง จึงได้โอนวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยไปอยู่ในสังกัดของสำนักงานกลาง 

พ.ศ. 2521 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้พัฒนาหลักสูตรจากระดับอนุปริญญามาเป็นหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ห้องสมุดและโสตทัศนูปกรณ์ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งในจำนวน 11 แผนกของวิทยาลัยพยาบาลฯ จึงได้เริ่มรับผู้สำเร็จวิชาบรรณารักษศาสตร์เข้ามาปฏิบัติงานและ ได้ปรับปรุงห้องสมุดให้สมบูรณ์โดยจัดหมวดหมู่หนังสือด้วยระบบ NLM และ LC ซึ่งในขณะนั้นมีหนังสืออยู่ประมาณ 2,000 เล่ม จึงได้จัดซื้อหนังสือการพยาบาล การแพทย์ วิชาการศึกษาทั่วไป วิชาพื้นฐานวิชาชีพฯ และวิชาที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น 

พ.ศ. 2525 ได้ย้ายห้องสมุดจากตึกศักรินทรภักดีไปยังตึก 3 ชั้น

พ.ศ. 2532 สภากาชาดไทย ได้มีประกาศข้อบังคับสภากาชาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2532 ให้วิทยาลัยพยาบาลฯ มีฐานะเป็นกองหนึ่งในสภากาชาดไทย พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานเป็น 2 ส่วน คือ ภาควิชา และสำนักงานวิทยาลัยพยาบาลฯ หน่วยห้องสมุดเป็นหน่วยงานหนึ่งในฝ่ายวิชาการของสำนักงานฯ มีหน้าที่สนับสนุนวิชาการของวิทยาลัยพยาบาลฯ และมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาบรรณารักษศาสตร์เป็นหัวหน้าหน่วย

พ.ศ. 2536 ได้เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล และเริ่มให้บริการสืบค้นข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์      

พ.ศ. 2540 ได้ย้ายห้องสมุดจากตึก 3 ชั้น ไปยังตึก 7 ชั้นชั่วคราว เพื่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของห้องสมุด

พ.ศ. 2542 ห้องสมุด ได้นำโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ (Elib Web) มาใช้ในการจัดเก็บ และให้บริการสืบค้นข้อมูล พร้อมทั้งเริ่มให้บริการยืม-คืนด้วยระบบบาร์โค้ด

พ.ศ. 2543 ได้ย้ายห้องสมุดจากตึก 7 ชั้น ไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 6 และ 7

พ.ศ. 2563 ได้ย้ายห้องสมุดอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 6 และชั้น 7 ไปยังอาคารสิรินธรานุสรณ์ ๖๐ พรรษา ชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องสมุดในปัจจุบัน